
กลุ่มมือปืนคลุมหน้าบุกโจมตีด้วยระเบิดมือและไรเฟิลกลางงานแต่งงานในหมู่บ้านห่างไกลทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีเมื่อค่ำวันจันทร์ สังหารหมู่แขกร่วมงานที่มีทั้งเด็กและผู้ใหญ่ 44 ศพ รวมทั้งเจ้าบ่าว-เจ้าสาว ทางการตุรกีรีบชี้แจงเป็นศึกล้างเลือดระหว่างสองตระกูล ไม่ใช่การก่อการร้าย
เหตุการณ์นองเลือดเมื่อค่ำวันจันทร์ นับเป็นเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งในหมู่พลเรือนด้วยกันเองครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของประเทศที่เสนอตัวขอเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปแห่งนี้
รัฐมนตรีมหาดไทยเบซีร์ อะตาลาย แถลงข่าวในวันอังคารว่า การสังหารหมู่ที่งานวิวาห์ในหมู่บ้านบิลเกในจังหวัดมาร์ดิน ถิ่นของชนเชื้อสายเคิร์ด ครั้งนี้เป็นการล้างแค้นกันระหว่างคน 2 ตระกูล โดยเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมและควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้ 8 รายพร้อมกับยึดอาวุธไว้ได้เมื่อคืนวันจันทร์
"การประเมินเบื้องต้นชี้ว่าการโจมตีมีชนวนเหตุจากความเป็นศัตรูคู่อาฆาตและปัญหาทะเลาะวิวาทกันระหว่างคนสองตระกูล หลักฐานถึงขณะนี้แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ฝีมือของกลุ่มก่อการร้าย" รัฐมนตรีผู้นี้กล่าวเป็นนัยถึงกองโจรแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ดที่เคลื่อนไหวในพื้นที่นี้
สำนักข่าวอะนาโตเลียนของทางการตุรกีรายงานคำบอกเล่าของพยานว่า ขณะพิธีดำเนินไปได้ราว 15 นาที โดยมีแขกเหรื่อมาร่วมงานราว 200 คนนั้น มือปืนราว 6 คนได้บุกเข้าไปในบ้าน 2 หลัง ที่แขกมารวมตัวกันทำละหมาดหลังพิธีวิวาห์ โดยปาระเบิดมือใส่ก่อนแล้วก็สาดกระสุนฆ่าทั้งผู้ชายและผู้หญิง ตัวเจ้าสาวซึ่งมีนามว่า เซฟกี เซเลบี เป็นลูกสาวของผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าบ่าวชื่อ ฮาบิป อารี เสียชีวิตทั้งคู่
สตรีวัย 19 รายหนึ่งเผยว่า มือปืนได้ต้อนผู้หญิงและเด็กไปรวมกันที่ห้องห้องหนึ่งในบ้านหลังหนึ่งแล้วก็กราดยิง
หลังก่อเหตุคนร้ายบางคนอาศัยพายุทรายและความมืด หลบหนีออกจากพื้นที่ซึ่งอยู่ใกล้พรมแดนซีเรียได้ก่อนที่ทหารจะล้อมหมู่บ้านและปิดถนนเข้าสู่หมู่บ้าน
อะตาลายกล่าวว่า ในกลุ่มผู้เสียชีวิต 44 คน มีเด็ก 6 คนและผู้หญิง 16 คนรวมอยู่ด้วย ก่อนหน้านี้ทางการตุรกีระบุว่าผู้เสียชีวิตมีทั้งสิ้น 45 ราย
ชาวบ้านกล่าวกันว่า พื้นที่แถบนี้มีปัญหาอาฆาตพยาบาทกันระหว่างนักรบอาสาพิทักษ์หมู่บ้านกลุ่มต่างๆ มายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว ครอบครัวของเจ้าบ่าวและเจ้าสาวก็พัวพันอยู่ในความขัดแย้งนี้ด้วย กำลังทหารกึ่งบ้านที่ว่านี้ทางรัฐจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2538 เพื่อสู้รบกับพวกกบฏแบ่งแยกดินแดนเคิร์ด มีกำลังราว 57,000 คน การที่คนกลุ่มนี้ได้รับสิทธิในการพกพาอาวุธ แจ้งข่าวต่อทางการ และสังหารได้ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐทำให้พวกเขามีพลังอำนาจในพื้นที่ ซึ่งฝ่ายวิจารณ์ระบุว่าคนพวกนี้มักใช้สถานภาพของตนในการแก้ปัญหาขัดแย้งระหว่างตระกูลและยึดครองที่ดิน
ชายวัย 44 ปีซึ่งเสียญาติไป 2 คนเผยกับรอยเตอร์ว่า การโจมตีครั้งนี้มีต้นเหตุจากเจ้าสาว แต่ก็ไม่ทราบว่าเป็นฝีมือฝ่ายใด
การแต่งงานในท้องถิ่นอนุรักษนิยมทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีมักเป็นสาเหตุของการแก่งแย่งกันในหมู่ฝ่ายชาย ที่ต้องเสนอสินสอดแก่ฝ่ายหญิ ง โดยที่มักลงเอยที่ฝ่ายที่เสนอสินสอดมากกว่าเป็นผู้ชนะ
นายกฯ ทายยิป เออร์โดอัน กล่าวว่า ไม่ว่าประเพณีเก่าแก่ชนิดใดก็ไม่อาจใช้เป็นเหตุผลในการสังหารผู้คนเช่นนี้.
ที่มา thaipost.net
{mosloadposition user26} | {mosloadposition user27} |
{mosloadposition user28} |